UK Boarding Schools – เรียนต่อมัธยมที่อังกฤษ

เรียนต่อมัธยมที่ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศต้นแบบของการศึกษาในหลายๆประเทศทั่วโลก เป็นเหตุผลที่ทำให้การเรียนต่อมัธยมที่ประเทศอังกฤษ เป็นตัวเลือกแรกๆที่ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ปกครองและนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำในประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา หรือแม้แต่สวิสเซอร์แลนด์ ก็ล้วนได้ต้นแบบมาจากรูปแบบโรงเรียนมัธยมในอังกฤษ โดยเน้นไปที่การสร้างเด็กและเยาวชนโดยพื้นฐานของการให้เกียรติ ระเบียบวินัย การนับถือผู้อาวุโสกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถือว่ามีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การไปเรียนต่อมัธยมที่ประเทศอังกฤษนั้น กว่าร้อยละ 80 ของเด็กนักเรียนต่างชาติในระดับชั้นมัธยมจะต้องเรียนในโรงเรียนประจำแบบกินนอนเท่านั้นและสามารถเรียนได้แต่เพียงโรงเรียนเอกชนเท่านั้น มีเพียงบางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนประเภท International School เท่านั้นที่นักเรียนอาจจะมีตัวเลือกในการพักกับโฮสต์แฟมิลี่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการไปเรียนต่อมัธยมที่ประเทศอังกฤษนั้นค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้หากผู้ปกครองมีกำลังส่งโดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำประมาณ 1.3 ล้านบาทต่อปีสำหรับค่าเรียน ค่าที่พัก และค่าอาหาร (ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ) และมีเป้าหมายในการให้เด็กเรียนรู้ระเบียบวินัย เล่นกีฬา ไปพร้อมๆ กับความเข้มข้นทางด้านวิชาการแล้ว ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในการส่งเด็กนักเรียนไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษา

ข้อมูลการศึกษา - ระดับมัธยมศึกษาในประเทศอังกฤษ

ระบบการศึกษาประเทศอังกฤษ

สำหรับท่านผู้ปกครองหรือน้องๆนักเรียนที่กำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการไป เรียนต่อในประเทศอังกฤษ , เรียนต่อมัธยมอังกฤษ ทาง GENT ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ และรายชื่อโรงเรียนในอังกฤษ เพื่อให้น้องๆและผู้ปกครอง มีความเข้าใจมากขึ้น ก่อนตัดสินใจไป “เรียนต่ออังกฤษ

ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษนั้นถือได้ว่ามีระบบการศึกษาที่แตกต่างจากระบบของประเทศไทยพอสมควร โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ตอนได้แก่

  1. การศึกษาภาคบังคับ โดยแบ่งออกเป็นในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา Keystage 1 – Keystage 4 (GCSE)
  2. การศึกษาระดับ Further Education Level (A – Level)
  3. การศึกษาระดับ Higher Education

"ตารางสรุประบบการศึกษาในประเทศอังกฤษ"

Year Age Form Level
Year 1 5 - 6 Infants Key Stage 1
Year 2 6 - 7 Infants Key Stage 1
Year 3 7 - 8 Junior Key Stage 2
Year 4 8 - 9 Junior Key Stage 2
Year 5 9 - 10 Junior Key Stage 2
Year 6 10 - 11 Junior Key Stage 2
Year 7 11 - 12 First Form Key Stage 3
Year 8 12 - 13 Second Form Key Stage 3 - Common Exams
Year 9 13 - 14 Third Form Key Stage 3 - GCSE Prep
Year 10 14 - 15 Fourth Form Key Stage 4 - GCSE
Year 11 15 - 16 Fifth Form Key Stage 4 - GCSE / Pre A Level
Year 12 16 - 17 Lower Sixth Key Stage 5 - A Level (AS)
Year 13 17 - 18 Upper Sixth Key Stage 6 - A Level

 

การศึกษาภาคบังคับ (Key Stage)

ระบบการศึกษาภาคบังคับของประเทศอังกฤษ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับใหญ่ๆ คือ

  1. ระดับประถมศึกษา (Primary Level) โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับย่อยตาม Key Stage คือ
    1. Key Stage 1 ได้แก่ระดับชั้นประถมศึกษา Year 1 – 2 โดยนักเรียนจะมีอายุประมาณ 5 – 6 ปี
    2. Key Stage 2 ได้แก่ระดับชั้นประถมศึกษา Year 3 – 6 โดยนักเรียนจะมีอายุประมาณ 7 – 10 ปี
  2. ระดับมัธยมศึกษา (Secondary Level) โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับย่อยตาม Key Stages คือ
    1. Key Stage 3 ได้แก่ระดับชั้นมัธยมศึกษา Year 7 – 9 ซึ่งเป็นระดับชั้นที่โดยปกติแล้วนักเรียนต่างชาติจะเริ่มต้นการศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยนักเรียนส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 11 – 13 ปี
    2. Key Stage 4 ได้แก่ระดับชั้นมัธยมศึกษา Year 10 – 11 โดยนักเรียนส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 14 – 16 ปี

หลังจากจบแต่ละ Key Stage นักเรียนจะต้องทำการสอบ National Tests เพื่อวัดผลการเรียนในแต่ละระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนักเรียนเรียนจบในระดับ Key Stage 4 จะต้องทำการสอบเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาซึ่งถือเป็นการจบการศึกษาภาคบังคับของประเทศอังกฤษ โดยวุฒิการศึกษานี้มีชื่อว่า General Certificate of Secondary Education (GCSE) หรือ O-Level เดิมนั่นเอง ทั้งนี้นักเรียนจะต้องเลือกสอบวิชาต่างๆจำนวน 6 - 8 วิชา อาทิเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยนักเรียนจะต้องสอบผ่านอย่างน้อย 5 วิชาให้ได้เกรด C ขึ้นไป โดยผลสอบจะแบ่งออกเป็น 7 ระดับตั้งแต่เกรด A - G

สำหรับนักเรียนไทยที่ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษและสอบผ่านวุฒิการศึกษาในระดับ GCSE ในปัจจุบันนักเรียนจะต้องสอบผ่าน GCSE 5 ตัว และต้องมีคะแนนจากระดับการศึกษา AS Level อีก 3 ตัว จึงจะสามารถเทียบเท่าการจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนำวุฒิการศึกษานี้ยื่นสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยหลักสูตรภาคนานาชาติในประเทศไทยได้

การศึกษาระดับ Further Education Level (A – Level)

หลังจากนักเรียนสอบผ่านวุฒิการศึกษาภาคบังคับ GCSE แล้ว หากนักเรียนมีความต้องการที่จะเรียนต่อในระดับสูงขึ้น นักเรียนสามารถเลือกเรียนต่อในระดับ Further Education ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. สายสามัญ (Academic Qualification) สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการเข้าสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรี นักเรียนจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนระบบ Sixth Form College ซึ่งทำการเรียนการสอนในหลักสูตร GCE Advanced Level หรือเรียกสั้นๆว่า A-Level นอกจากนี้สำหรับบางโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ อาจจะไม่ได้นำเสนอระบบ A-Level แต่โรงเรียนจะนำเสนอหลักสูตรที่มีชื่อว่า International Baccalaureate (IB) ซึ่งก็เป็นอีกหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเช่นกัน แต่จะมีความแตกต่างในด้านเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอน รวมถึงการวัดผลทั้งนี้หลังจากจบการศึกษาในระดับ A-Level แล้ว นักเรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาที่เรียกว่า General Certificate of Education หรือ GCE และสามารถนำคะแนนที่สอบได้เพื่อนำไปใช้ยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป
  2. สายวิชาชีพ (Vocational Qualification) สำหรับเด็กนักเรียนที่ไม่ต้องการเน้นการเรียนด้านวิชาการ แต่ต้องการเน้นการเรียนด้านปฏิบัติ ก็สามารถเลือกเรียนในหลักสูตร BTEC (Business and Technology Education Council) ได้ โดยเมื่อจบการศึกษา ก็สามารถนำวุฒิการศึกษานี้เพื่อนำไปยื่นสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีได้เช่นเดียวกัน แต่อาจจะมีทางเลือกในการเรียนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับการเรียนในหลักสูตร A-Level

ทั้งนี้นักเรียนที่ลงเรียนในระบบ A-Level หรือ BTEC นั้น จะต้องลงเรียนจำนวน 3 วิชาโดยจะต้องเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับคณะที่สนใจในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สำหรับนักเรียนบางคนอาจจะเลือกลงเรียน 4 วิชาตอนเรียน Year 12 เนื่องจากอาจจะยังไม่มั่นใจในเรื่องของวิชาเรียน แล้วจึงค่อยลดจำนวนวิชาเรียนเหลือเพียง 3 วิชาเมื่อเรียน Year 13 ก็สามารถทำได้เช่นกัน

สำหรับบางโรงเรียนที่มีการเปิดสอนทั้งในหลักสูตร A-Level และ BTEC นักเรียนสามารถที่จะเลือกเรียนแบบผสมผสานกันก็เป็นได้

การศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education)

สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ในประเทศอังกฤษ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับกว้างๆ ได้แก่

  1. Undergraduate: หลักสูตรปริญญาตรีในประเทศอังกฤษส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการเรียนเพียง 3 ปี ยกเว้นบางสาขาเช่น วิศวกรรมศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, ทันแพทยศาสตร์ ซึ่งใช้เวลาเรียนเหมือนประเทศไทยสำหรับนักเรียนที่จบชั้น ม.6 จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและต้องการเรียนต่อปริญญาตรีในประเทศอังกฤษ นักเรียนจะต้องเข้าเรียนในหลักสูตร Foundation Course ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาอังกฤษและวิชาการและทำการสอบ โดยนำคะแนนที่ได้ไปยื่นเข้าสมัครศึกษาต่อมหาวิทยาลัยต่อไป
    ทั้งนี้น้องๆบางคนอาจจะมีข้อกังวลว่าจะทำให้การเรียนเสียเวลาไป 1 ปี จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษนั้น โดยทั่วไปอาทิ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตาร์ บริหารธุรกิจ และอื่นๆ จะใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้น้องๆไม่จำเป็นต้องมีความกังวลว่าจะเสียเวลาเรียน 1 ปี เพราะท้ายที่สุดแล้วน้องๆก็จะจบพร้อมกับเพื่อนๆที่เรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ยกเว้นบางคณะอย่างเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น
  2. Postgraduate: หลักสูตรสูงกว่าปริญญาตรี สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
    1. Graduate Certificate/ Diploma เป็นหลักสูตรที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี โดยใช้เวลาเรียน 6 เดือน 1 ปี
    2. Master Degree การเรียนต่อปริญญาโทในประเทศอังกฤษ โดยมีระยะเวลาการเรียนประมาณ 1 – 2 ปี
    3. Doctoral Degree หลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยมีระยะเวลาการเรียนประมาณ 3 ปี

เทอมการศึกษาในประเทศอังกฤษ (Academic Terms)

สถาบันการศึกษาในประเทศอังกฤษไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับใด สามารถแบ่งออกเป็น 3 เทอม ได้แก่

  • Autumn Term ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงกลางเดือนธันวาคม
  • Spring Term ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ถึงปลายเดือนมีนาคม
  • Summer Term ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม

ประเภทของโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ

โรงเรียนที่ประเทศอังกฤษที่เปิดรับนักเรียนต่างชาติได้จะต้องเป็นโรงเรียนเอกชนเท่านั้น โดยโรงเรียนเอกชนในประเทศอังกฤษสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

  • Traditional Boarding School โรงเรียนประจำ โดยนักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่ประมาณ 50-90% เป็นนักเรียนอังกฤษ และมีนักเรียนต่างชาติอยู่ในจำนวนที่น้อยกว่า ส่วนมากมักเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งมายาวนานหลักร้อยปีขึ้นไป อาทิ Eton College, Brighton College, Dulwich College, Oundle School, St Edward School - Oxford, Berkhamsted School, The Leys School, Cheltenham College, Oswestry School, Prior Park College เป็นต้น
  • International College เป็นโรงเรียนที่อาจจะเป็นโรงเรียนประจำ และอาจจะเป็นโรงเรียนแบบไปกลับ โดยเปิดสอนและมีความชำนาญในการสอนนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ หรือบางโรงเรียนอาจจะมีนักเรียนอังกฤษอยู่บ้าง แต่ก็จะมีจำนวนไม่มากไปกว่านักเรียนต่างชาติ อาทิ CATS College, Abbey DLD, Oxford Sixth Form College เป็นต้น
  • International Study Center เป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ ก่อนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนสองประเภทแรก อาทิ Bishopstrow College หรือบางโรงเรียนอาจจะมีศูนย์ International Study Center ตั้งอยู่ในโรงเรียนประเภท Traditional Boarding School ก็เป็นไปได้ อาทิ Moreton Hall ISC, Taunton ISC, Mill Hill ISC, King's School ISC เป็นต้น