เรียนต่อมัธยมที่อเมริกา – US High Schools

ทำไมต้องไปเรียนมัธยมที่อเมริกา? Why US High Schools?

หนึ่งในประเทศที่ผู้ปกครองและน้องๆ มักนึกถึงและใฝ่ฝันในการไปเรียนต่อต่างประเทศย่อมหนีไม่พ้นการไปเรียนต่อ High School ที่อเมริกา ซึ่งมีความก้าวล้ำทางด้านการศึกษาและวิชาการเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นประเทศสหรัฐอเมริกายังถือเป็นผู้นำในด้านการเรียนการสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เด็กนักเรียนไทยให้ความสนใจศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบการศึกษาระดับมัธยมที่อเมริกายังไม่เป็นแต่เพียงการสอนภายในห้องเรียนทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีวิชาเลือกที่หลากหลายให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง ซึ่งเมื่อจบการศึกษามปลายที่อเมริกาแล้ว นักเรียนสามารถออกไปทำงานได้ หรือสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัยชั้นนำและเป็นมหาวิทยาลัยในฝันของน้องๆ หลายๆ คนอีกด้วย

สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่าย ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีโรงเรียนที่สามารถรับนักเรียนต่างชาติเข้าเรียนได้ โดยมีงบประมาณที่หลากหลาย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 20,000 เหรียญขึ้นไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองและน้องๆ ในการเลือกไปเรียนต่อ High School ที่อเมริกา

การเตรียมตัวไปเรียน High School ที่อเมริกา

  1. เลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับตัวเอง เนื่องจากการไปเรียนต่อ High School ที่อเมริกานั้น นักเรียนสามารถเลือกไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลภายใต้โครงการแลกเปลี่ยน J-1 (ไม่เกิน 1 ปี) หรือจะไปเรียนจนจบการศึกษาภายใต้วีซ่า F-1
  2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรมัธยมของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ในคลิปการเรียนต่อมัธยมที่อเมริกาด้านล่าง
  3. สอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยในการออกแบบ และเตรียมตัวนักเรียนก่อนเดินทางไปเรียน High School ที่อเมริกา อย่างน้อยล่วงหน้า 6 เดือนก่อนเดินทาง โดยน้องๆ สามารถแจ้งความต้องการ เมือง ประเภทที่พัก ขนาดโรงเรียน และความต้องการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตัวเองเพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่หาโรงเรียนที่เหมาะสมให้
  4. การเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาอังกฤษ ในปัจจุบัน นักเรียนไทยมักมีระดับภาษาอังกฤษที่สามารถฟังและพูดในชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม การไปเรียนต่อมัธยมที่อเมริกานั้น นักเรียนควรจะต้องเตรียมความพร้อมทางด้าน Academic English ทั้งเรื่องของการฟัง พูด อ่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ Academic Writing โดยผู้ปกครองสามารถจัดหาคอร์สเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติที่เมืองไทย
  5. เตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาพื้นฐานเช่น คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้คนไทยมักมีความคิดว่าไปเรียนต่างประเทศนั้นเรียนง่ายกว่าที่ประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันการเรียนในต่างประเทศไม่ได้เรียนง่ายกว่าในประเทศไทย นักเรียนควรจำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนไปเรียนต่อที่อเมริกาทั้งในส่วนของทักษะภาษาอังกฤษและเนื้อหาวิชาการตามที่กล่าวไป
  6. เตรียมความพร้อมทางด้านระเบียบวินัย และการเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ผู้ปกครองอาจส่งน้องไปเรียนซัมเมอร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอาจะเป็นการเรียนเพียงแค่ Study Tour English Program หรือเป็นการเรียน Academic Program ซึ่งผู้ปกครองสามารถสอบถามข้อมูลได้กับทาง GENT ในการช่วยวางแผนก่อนเดินทางไปเรียนต่อ High School ที่อเมริกา

    ผู้ปกครองบางท่านอาจมองว่าการไปซัมเมอร์ต่างประเทศเป็นเพียงการไปเที่ยวสำหรับนักเรียนช่วงปิดเทอม อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองมีแพลนที่จะส่งน้องไปเรียนมัธยมที่ต่างประเทศแล้ว การเลือกโปรแกรมซัมเมอร์ที่ถูกจัดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ มีกรุ๊ปลีดเดอร์ที่มีความเข้าใจและมีประสบการณ์ จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมนักเรียนไม่เพียงแต่การได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน แต่จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสังคม การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต และการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตด้วยตัวเองอีกด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมนักเรียนก่อนไปเรียนต่อมัธยมที่อเมริกา (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมซัมเมอร์ที่น่าสนใจได้ที่นี่ Click here)

เรียนต่อมัธยมที่อเมริกา มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? 

สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายก็มีให้เลือกได้หลากหลายตามงบประมาณที่ผู้ปกครองตั้งเอาไว้ โดยปรกติแล้ว นักเรียนต่างชาติสามารถเรียนได้เฉพาะในโรงเรียนเอกชน หากต้องการเรียนจนจบการศึกษาภายใต้วีซ่า F-1 อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนมปลายในประเทศไทยมักให้ความนิยมในการไปโครงการแลกเปลี่ยน โดยเป็นการเรียนมปลายที่อเมริกาในโรงเรียนรัฐบาลผ่านโครงการแลกเปลี่ยนแบบ J-1 โดยจะเรียนได้เพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็เป็นโครงการที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง เพียงแค่ประมาณ 5 แสนบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ J-1 มักมีข้อจำกัดโดยนักเรียนไม่สามารถเรียนต่อในระยะยาวได้ เนื่องจากเป็นการเรียนในโรงเรียนรัฐบาลผ่านวีซ่าแบบ J-1 ดังนั้น นักเรียนในโครงการ J-1 ถ้าหากมีความประสงค์ต้องการเรียนต่อในปีที่ 2 จะต้องทำการย้ายโรงเรียนเพื่อไปเรียนในโรงเรียนเอกชนและกลับมาสมัครวีซ่าใหม่เป็นแบบ F-1

สำหรับการไปเรียนต่อมัธยมที่อเมริกาแบบระยะยาวนั้น นักเรียนสามารถไปเรียนได้โดยใช้วีซ่า F-1 โดยน้องๆ จะไปเรียนในโรงเรียนเอกชนซึ่งสามารถเรียนได้จนจบการศึกษา แต่ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงขึ้นมาและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 6 แสนบาทขึ้นไปสำหรับการพักอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ (Day school) หรือการไปเรียนที่โรงเรียนประจำ (Boarding School) ก็จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 8 แสนบาทขึ้นไป

สำหรับค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการไปเรียนต่อมัธยมที่อเมริกามีดังนี้ 

  1. ค่าเรียน (Tuition Fee) เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีความแตกต่างในด้านค่าครองชีพและนโยบายของรัฐท้องถิ่น ทำให้ค่าเทอมของโรงเรียนมัธยมที่อเมริกานั้นมีความหลากหลายและแตกต่างกันพอสมควร โดยมีค่าเล่าเรียนเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไปจนถึง 4-5 หมื่นเหรียญสหรัฐกันเลยทีเดียว โดยหากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่ และเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแล้ว ค่าเล่าเรียนก็จะแพงกว่าโดยเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่อยู่ในเมืองเล็กๆ
  2. ค่าที่พัก (Accommodation Fee) สำหรับโรงเรียนมัธยมในอเมริกานั้นมี 2 แบบ แบ่งตามประเภทที่พักคือ
    1. Boarding School เป็นโรงเรียนประจำที่มีหอพักอยู่ในบริเวณโรงเรียน สำหรับค่าที่พักแบบหอพักนี้จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15,000 เหรียญขึ้นไปต่อปีการศึกษา
    2. Host Family สำหรับนักเรียนที่อยากประหยัดค่าใช้จ่าย ก็สามารถเลือกเรียนโรงเรียนแบบ Day School และเลือกพักกับโฮสต์แฟมิลี่ได้ โดยค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 เหรียญต่อปีการศึกษา
  3. ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ อาทิเช่น Insurance, Deposit Fee, ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นต้น อีกประมาณเดือนละ 200 - 400 เหรียญต่อเดือน จำนวนการเรียนทั้งสิ้น 10 เดือนต่อ 1 ปีการศึกษา

โดยสรุปแล้ว ผู้ปกครองควรมีงบประมาณอย่างน้อย  20,000 - 25,000 เหรียญต่อ 1 ปีการศึกษา สำหรับการส่งบุตรหลานไปเรียนมัธยมที่อเมริกา

ข้อมูลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา

ระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับท่านผู้ปกครองหรือน้องๆนักเรียนที่กำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการไปเรียนต่อมัธยมที่อเมริกา ทาง GENT ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และรายชื่อโรงเรียนมัธยมในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้น้องๆและผู้ปกครอง มีความเข้าใจมากขึ้น ก่อนตัดสินใจไป “เรียนต่ออเมริกา”

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเรียนการสอนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเน้นเรื่องของการเป็นตัวของตัวเองและมีอิสระทางความคิดและคำพูดภายใต้การให้เกียรติและเคารพต่อตนเองและบุคคลอื่น จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่ต้องการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ โดยโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 4 ช่วงได้แก่

1. ระดับประถมศึกษา (Primary School): Grade 1 – 6 สำหรับนักเรียนอายุประมาณ 5 – 12 ปี

2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Middle School): Grade 7 – 8 สำหรับนักเรียนอายุประมาณ 13 – 14 ปี

3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (High School): Grade 9 - 12 สำหรับนักเรียนอายุ 15 - 18 ปี

4. ระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี โท และ เอก ทั้งนี้สำหรับการเรียนปริญญาตรีนั้น นักเรียนสามารถเลือกเรียนในรูปแบบของการเรียนแบบอนุปริญญาได้ กล่าวคือ นักเรียนสามารถเลือกเรียนในวิทยาลัยชุมชน (Community College) เป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนที่จะ Transfer ย้ายที่เรียนเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีในชั้นปีที่ 3 และ 4 ในมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งการเรียนในระดับปริญญาตรีในชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่วิทยาลัยชุมชน (Community College) นั้นจะมีค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัย 4 ปี

หลักสูตรการเรียนต่อมัธยมที่อเมริกา

สำหรับการเรียนมัธยมในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น โดยทั่วไป หากนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนและสามารถจบการศึกษาในระดับชั้น Grade 12 ได้ นักเรียนจะได้ใบประกาศนียบัตรหรือที่เรียกว่า High School Diploma ซึ่งสามารถนำเกรดและใบประกาศนียบัตรไปยื่นเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อได้

นอกจากวุฒิการศึกษา High School Diploma ซึ่งเป็นวุฒิการศึกษาพื้นฐานของโรงเรียนมัธยมในอเมริกาแล้ว สำหรับบางโรงเรียนอาจมีการนำเสนอการเรียนการสอนในหลักสูตร IB ซึ่งเป็นหลักสูตรหนึ่งที่ได้รับความนิยมด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนบางคนที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน โดยทำการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา ก็สามารถที่จะสอบให้จบและได้ใบประกาศนียบัตรได้เช่นกัน โดยจะได้วุฒิการศึกษาที่เรียกว่า General Education Diploma (GED) ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในหลักสูตรนานาชาติ รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ให้การยอมรับเช่นกัน

ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนที่เรียนในระบบนั้น โดยทั่วไปแล้วการเรียนการสอนของนักเรียนจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ

  1. Advance Placement (AP) นักเรียนสามารถลงเรียน AP ในรายวิชาที่ตัวเองมีความถนัด โดยในเนื้อหารายวิชาก็จะมีรายละเอียดที่ลงลึกลงไป และมีความยากมากขึ้น เพื่อแลกการคะแนนเกรดที่มีค่าน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คะแนน GPA นั้นมีค่าสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกามักจะให้ความสำคัญกับนักเรียนที่เรียนในระดับ Advance Placement อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทุกโรงเรียนมัธยมในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะมีการเรียนการสอนในระดับ AP แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการเรียนการสอนในระดับ AP ในโรงเรียน ทางโรงเรียนก็อาจมีทางเลือกในการให้ลงเรียน AP แบบ Online Class ได้เช่นกัน
  2. Honor Class สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถุในระดับทั่วไป อาจจะไม่สามารถเข้าเรียนได้ถึงในระดับ AP แต่ก็มีความต้องการเก็บคะแนนสะสะม GPA เพื่อนำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต
  3. College Prep สำหรับนักเรียนหลายๆ คนโดยเฉพาะนักเรียนอเมริกันเอง เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมแล้ว นักเรียนหลายๆ คนก็จะเลือกที่จะไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นนักเรียนกลุ่มนี้จึงอาจจะเลือกระดับความยากในวิชาที่ระดับที่ไม่ยากมากนัก เนื่องจากไม่ได้ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยและต้องการความรู้เชิงวิชาการมากเท่านักเรียนที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเลือกการเรียนในระดับ Honor Class แทน
  4.  ESL สำหรับบางโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลนักเรียนต่างชาติ ก็อาจมีการให้นักเรียนเลือกในหลักสูตร ESL โดยจะเป็นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับเนื้อหาและคำศัพท์ในวิชานั้นๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ระดับภาษาอังกฤษอาจจะยังไม่ดีพอในการจะเข้าไปเรียนในระดับ Honor Class หรือ College Prep

ทั้งนี้ในส่วนของการเลือกวิชาเรียน จำนวนวิชาเรียนของโรงเรียนมัธยมในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น จะทำการเรียนการสอนประมาณ 8 วิชาในทุกระดับ กล่าวคือจะเป็นการเรียนในหลากหลายวิชา ไม่เหมือนกับประเทศอังกฤษที่ะเป็นการเรียนจำนวนวิชาน้อยแบบเจาะลึกในการเรียน 2 ปีสุดท้าย ดังนั้นหลักสูตรการเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเหมาะกับนักเรียนที่ยังต้องการค้นหาตัวเอง และได้ทดลองเรียนในหลายๆ วิชาแบบกว้างๆ มากกว่าการเรียนแบบเจาะลึกในบางวิชาเหมือนเช่นประเทศอังกฤษ

เทอมการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่ และมีความแตกต่างในแต่ละรัฐ ทำให้ระบบเทอมการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. Semesters เป็นระบบที่ใช้กันมากที่สุด โดยแบ่งภาคการศึกษาออกเป็น 2 ภาคคือ
    1. เดือนสิงหาคม - เดือนธันวาคม
    2. เดือนมกราคม - เดือนมิถุนายน
  2. Trimesters เป็นระบบที่ใช้กันไม่มากนัก แต่ก็ยังพอมีให้เห็นในบางรัฐและบางมหาวิทยาลัย โดยแบ่งภาคการศึกษาออกเป็น 3 ภาค คือ
    1. เดือนกันยายน - เดือนธันวาคม
    2. เดือนมกราคม - เดิือนมีนาคม
    3. เดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน
  3. Quarters เป็นระบบที่ใช้กันโดยมากในรัฐ Oregon และ Washington โดยแบ่งเทอมการศึกษาออกเป็น 4 เทอมคือ
    1. เดือนกันยายน - เดือนธันวาคม
    2. เดือนมกราคม - เดิือนมีนาคม
    3. เดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน
    4. เดือนกรกฎาคม - เดือนสิงหาคม (Summer Term - Optional)

ข้อแนะนำในการเลือกโรงเรียนมัธยมที่อเมริกา

ผู้ปกครองและน้องๆ มักมีคำถามว่าโรงเรียนมัธยมที่อเมริกามีจำนวนมาก แต่ไม่ทราบว่าจะเลือกโรงเรียนอย่างไร เบื้องต้นทาง GENT ขอแนะนำในปัจจัยในการเลือกโรงเรียนดังนี้

  1. ประเภทของโรงเรียน: ชายล้วน หญิงล้วน หรือโรงเรียนสหศึกษา ซึ่งในปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ในอเมริกาจะเป็นโรงเรียนประเภทสหศึกษา และจะมีนักเรียนหญิงล้วนอยู่บ้าง แต่จะเป็นโรงเรียนเอกชนเท่านั้น
  2. ประเภทที่พัก: Boarding School vs Day School - Host family
  3. ที่ตั้งของโรงเรียน: โรงเรียนในเมืองใหญ่ (City Schools), โรงเรียนในเมืองขนาดกลางหรือชานเมือง (Town Schools - Suburb) และโรงเรียนที่อยู่นอกเมือง (Rural Schools)
  4. ความเข้มข้นทางด้านวิชาการ โดยสามารถดูได้จากผลงานทางวิชาการของนักเรียนในเวบไซต์ของทางโรงเรียน หรือ Ranking
  5. Pastoral Care: ความเอาใจใส่ การดูแลนักเรียน โดยสามารถสอบถามจากทาง GENT ได้
  6. ขนาดของโรงเรียน จำนวนนักเรียนในโรงเรียน และจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นปี
  7. วิชาเลือกที่โรงเรียนเปิดให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้
  8. กิจกรรมเสริมนอกหลักสูตรตามความสนใจของนักเรียน โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกิจกรรมชมรมนอกเหนือจากตารางเรียน อาทิเช่น
    1. Computer: Robotics, Computer Science, Programming, etc.
    2. Arts and Drama: Film Making, Dance, Drama, Visual Arts, etc.
    3. Sports: Golf, Football, Soccer, Basketball, etc.
    4. Business: Entrepreneurship, Finance, Stock, Leadership, etc.
    5. Hospitality: Culinary, Cooking, Tourism, etc.
  9. งบประมาณ 

ประเภทของโรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและแนะนำโรงเรียนในอเมริกาที่น่าสนใจ

1. โรงเรียนรัฐบาล (State School) นักเรียนต่างชาติสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลได้ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนและวีซ่าแบบ J-1 เท่านั้น โดยนักเรียนต่างชาติสามารถเรียนได้สูงสุดในโรงเรียนรัฐบาลไม่เกิน 1 ปีการศึกษา และไม่สามารถจบการศึกษาและได้วุฒิการศึกษา (High School Diploma) จากโรงเรียนรัฐบาลได้

2. โรงเรียนเอกชน (Private School) เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความกว้างใหญ่และมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือบริเวณที่ตั้ง ดังนั้นจึงทำให้การเรียนต่อมัธยมในประเทศสหรัฐมอเมริกานั้นมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน โดยเริ่มต้นที่ประมาณปีละ 6 แสนบาทสำหรับโรงเรียนในเมืองหรือรัฐที่อยู่ไกลความเจริญ หรืออาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 ล้านบาทต่อปีสำหรับโรงเรียนเอกชนชั้นนำที่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่และมีความเข้นข้นทางด้านวิชาการในการเตรียมความพร้อมนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

นอกจากนี้โรงเรียนมัธยมในอเมริกา สามารถแบ่งออกได้ตามประเภทที่พักคือ

1. Day School พักกับโฮสต์แฟมิลี่

2. Boarding School โดยนักเรียนจะพักกับหอพักในโรงเรียน และโรงเรียนเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตามในช่วงปิดเทอม บางโรงเรียนอาจจะให้นักเรียนต้องออกจากหอพัก ซึ่งนักเรียนจะต้องหาโฮสต์ในการพักช่วงปิดเทอม โดยสามารถติดต่อกับทางโรงเรียนให้ช่วยเหลือในการหาโฮสต์แฟมิลี่ได้ 

สำหรับโรงเรียนมัธยมในอเมริกาแบบประจำ (Boarding Schools) ที่น่าสนใจอาทิ Burr and Burton Academy, The Webb, The Athenian, Nebraska Christian School, Oregon Episcopal School, Wisconsin Lutheran High School, St Mary's School - Medford เป็นต้น

สำหรับโรงเรียนมัธยมในอเมริกาแบบไปกลับ (Day School) โดยจะพักกับโฮสต์แฟมิลี่ ที่น่าสนใจอาทิ Bethlehem Catholic High School, Catholic Central High School, Christian School of York, Immaculate Heart Central High School, Notre Dame Academy เป็นต้น