สัญลักษณ์ของประเทศแคนาดาคือใบเมเปิ้ล และแคนาดานั้นเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นผู้นำทางด้านสันติภาพสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตย และมีบทบาทสำคัญในการร่วมกับองค์กรนานาชาติ เช่น องค์กรสหประชาชาติ กลุ่มเครือจักรภพ และกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
นอกจากนี้ยังเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในเรื่องคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยมติดอันดับโลกมีความปลอดภัยสูงและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของนักศึกษาต่างชาติ จึงเป็นที่สนใจจากนักศึกษาจากทุกมุมโลกที่แห่กันไปศึกษาต่อที่แคนาดาเป็นจำนวนมาก มีหลัก ๆ อยู่ 5 เมืองสำหรับคนที่สนใจศึกษาต่อที่แคนาดา เช่น มอนทรีออล โทรอนโต แวนคูเวอร์ ควิเบกซิตี้ และ เอดมันตัน
ข้อมูลทั่วไปของประเทศแคนาดา
ประเทศแคนาดาตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ และทางตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทางตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทางเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์คติก และทางใต้ติดกับประเทศสหรัฐอเมริกา พื้นที่ 9,984,670 ตารางกิโลเมตร (ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และใหญ่กว่าไทยประมาณ 19.4 เท่า มีเมืองหลวงเป็นกรุงออตตาวา
แคนาดาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากรัสเซีย โดยกินพื้นที่ 1 ใน 3 ของทวีปอเมริกาเหนือ พื้นที่ตอนบนครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นเขตที่ราบหนาวจัด ไม่มีคนอาศัยอยู่ ความหนาแน่นของประชากรก็ต่ำมาก เฉลี่ยแค่ 3 คน 1 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
ประวัติของประเทศแคนาดา
แคนาดาเคยถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส ต่อมาก็เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษสาเหตุจากการประมงและการค้าขนสัตว์ ทำให้แคนาดาตกเป็นของอังกฤษ แต่ต่อมาแคนาดาได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเอง จึงได้จัดตั้งในลักษณะของสมาพันธรัฐ และขยายออกไปยังรัฐตะวันตกจนถึงรัฐบริติชโคลัมเบีย และต่อมาแคนาดาได้รับสถานะเป็นประเทศที่เท่าเทียมกับอังกฤษโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข
ภูมิประเทศของแคนาดา
แคนาดาเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย แต่ถ้าคิดเฉพาะที่เป็นพื้นดินแล้วก็นับเป็นอันดับ 4 เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลสาบน้ำจืดทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก นับเป็นแนวชายฝั่งที่ยาวที่สุดในโลก
ภูมิศาสตร์ทางกายภาพมีความแตกต่างกัน ป่าบอเรียลหรือป่าทางเหนือมีลักษณะเป็นป่าที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดปีและมีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวซึ่งเป็นลักษณะของป่าตามเขตอากาศแบบกึ่งขั้วโลก ป่าบอเรียลมีอยู่ทั่วประเทศแคนาดา
ในภูมิภาคอาร์กติกตอนเหนือมีลักษณะหนาวเย็นแบบเทือกเขาน้ำแข็งอย่างเทือกเขาร็อกกี้ และยังมีทุ่งหญ้าแพรรี่ที่กว้างใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ฤดูกาล และ สภาพอากาศของประเทศแคนาดา
สภาพอากาศของแคนาดามีความหลากหลายตั้งแต่ขั้วโลกเหนือที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็งที่เส้นรุ้งที่ 70 ไปจนถึงแนวป่าอันเขียวขจีของแถบชายฝั่งตะวันตกของบริติช โคลัมเบีย ปกติแล้วแคนาดามีฤดูกาลที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด 4 ฤดู คือ ฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์), ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-พฤษภาคม), ฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) , ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน)
โดยเฉพาะแถบภูมิภาคใกล้ชายแดนสหรัฐอเมริกา อุณหภูมิ ในช่วงกลางวันของฤดูร้อนอยู่ในช่วง 35 องศาเซลเซียส หรือร้อนกว่านั้น ในขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดในฤดูหนาว อาจติดลบถึง 25 องศาเซลเซียสสำหรับอุณหภูมิในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และใบไม้ร่วงจะอยู่ในระดับปานกลาง
ระบบการเมือง การปกครองในประเทศแคนาดา
แคนาดามีการปกครองแบบสหพันธรัฐ (Confideration) มีสมเด็จพระบรมราชินีนาถอาลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุขของรัฐ และเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันมีนาง Payette (The Right Honourable Julie Payette) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รูปแบบการปกครองของประเทศแคนาดา จะเป็นแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย ในระบบสภาและเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจการบริหารจะเป็นการจัดสรรให้รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลและเขตปกครองสามารถปกครองตนเองได้
หัวหน้าฝ่ายบริหาร/รัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐมนตรีซึ่งคัดเลือกโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาล สำหรับฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นระบบ 2 สภา
เขตการปกครองในแคนาดา
ประเทศแคนาดาประกอบด้วยรัฐ 10 รัฐ : ควิเบก, บริติช โคลัมเบีย, ซัสแคตเชวัน, นิวบรันสวิก,พรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์, นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์, แมนิโทบา, ออนแทรีโอ, โนวาสโกเชีย, แอลเบอร์ตา และดินแดน 3 แห่ง : นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์, นูนาวุต, ยูคอน ซึ่งปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ความแตกต่างระหว่างรัฐกับดินแดนก็คือ รัฐจะได้รับมอบอำนาจจากบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยตรง ขณะที่ดินแดนจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายของสหพันธรัฐ ดังนั้น รัฐบาลสหพันธ์จึงมีอำนาจโดยตรงในการควบคุมดูแลดินแดน ส่วนรัฐบาลของรัฐนั้นจะมีอำนาจและสิทธิในการปกครองตนเองมากกว่
เมืองสำคัญในประเทศแคนาดา
เนื่องจากว่าในแต่ละปีมีนักเรียนนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกสนใจที่จะศึกษาต่อที่แคนาดาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเรามาศึกษาหาข้อมูลในเมืองสำคัญ ๆ กันดู
แวนคูเวอร์ (Vancouver)
แวนคูเวอร์เป็นเมืองท่า ตั้งอยู่ในรัฐบริติช โคลัมเบีย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคนาดา เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ และในภูมิภาคแปซิฟิก ทำให้เมืองเป็นศูนย์กลางการส่งออกและนำเข้าสินค้า อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก
มอนทรีออล (Montreal)
มอนทรีออล เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศแคนาดารองจากโทรอนโต ประชากรที่นี่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก เป็นเมืองที่มีส่วนผสมลงตัวระหว่างมนต์ขลังสไตล์ยุโรปและความหวือหวาคึกคักมีสีสันตามแต่ประชากรกว่าครึ่งของที่นี่สามารถพูดได้คล่องทั้งสองภาษา คือ ฝรั่งเศสและอังกฤษแบบอเมริกันชน
ถ้ามาเรียนที่นี่จะไม่รู้สึกเบื่อเลยเพราะมีโรงละคร สถานที่ฟังเพลง-เต้นรำ และแหล่งทัศนศิลป์อื่น ๆ ให้นักเรียนต่างชาติสามารถเปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ไม่ซ้ำตลอดระยะเวลาการศึกษา
ออตตาวา (Ottawa)
ออตตาวา เป็นเมืองหลวงของแคนาดา ความปลอดภัยและความสวยงามเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวประทับใจ โดยเฉพาะสถานที่ทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ทั่วเมือง พร้อมมีรูปแบบบันเทิงหลากหลายในเวลากลางคืน มีพื้นที่ 2,790 ตร.กม. ออตตาวาเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศ เป็นเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในทวีปอเมริกา ทั้งยังเป็นเมืองที่สะอาดเป็นอันดับ 2 ในแคนาดา หรืออันดับ 3 ของโลก
โทรอนโต (Toronto)
มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโทรอนโต ที่สามารถเห็นได้จากการมีไชน่าทาวน์ในตัวเมือง 3 แห่งLittle Italy รวมถึง Greektown และยังมีนักศึกษาต่างชาติหลายพันคนจากทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้โทรอนโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ในแคนาดา และยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามกลุ่ม คือ การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และการค้าทั้งปลีกและส่ง
นครเกแบ็ก (Quebec City)
ควิเบ็กซิตี้นั้น เป็นเมืองหลวงของรัฐเกแบ็ก เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของรัฐรองลงมาจากมอนทรีออล ตั้งอยู่ที่จุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกด้วยส่วนเมืองเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของแคนาดา
คนแคนาดา ประชาชนในแคนาดา
คนแคนาดา หมายถึงบุคคลจากประเทศแคนาดา ซึ่งสื่อถึงทางพันธุกรรม, ที่อยู่อาศัย, กฎหมาย,ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม หรือชาติพันธุ์ สำหรับคนแคนาดาส่วนใหญ่ มักจะสื่อถึงการดำรงอยู่ และแหล่งที่มาของพวกเขา เพื่อมาพิจารณาว่าเป็นคนแคนาดา นอกเหนือจากชาวอะบอริจินอล ที่ปรากฏตามสำรวจสำมะโนประชากร
ศาสนาในแคนาดา
มีศาสนาอยู่มากมายที่คนแคนาดาสามารถเลือกนับถือได้ เช่น โรมันคาธอลิก, โปรแตสแตนท์, คริสต์นิกายอื่นๆ, มุสลิม, ฮินดู, พุทธ, อิสลาม. ซิกซ์และ ยิว
ภาษาทางการในแคนาดา
ภาษาราชการในแคนาดา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแคนาดาที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักจะอาศัยอยู่ในควิเบกซีตี้ แต่ก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องไม่แพ้กัน นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่นิยมมาเรียนภาษาที่แคนาดา ดังนั้นการเรียนต่อที่เเคนดา อาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด เเละเปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสไปด้วย
ค่าครองชีพในประเทศแคนาดา
ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่แคนาดานั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงินให้ดีก่อนเดินทางจริงสำหรับคนที่ต้องการศึกษาที่แคนาดา จะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินแก่รัฐบาลแคนาดาว่าสามารถจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพในระหว่างเรียนได้
สถานศึกษาที่รับเข้าศึกษานั้นจะมีแจ้งประมาณการค่าใช้จ่ายในปีแรกให้ แต่ถ้าไม่ได้รับแจ้ง ก็สามารถแสดงหลักฐานว่ามีเงินสำรองอย่างน้อย $10,000 สำหรับค่าครองชีพในแคนาดา 12 เดือนในฐานะนักเรียน โดยยังไม่รวมค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
การเดินทาง และ การคมนาคมในประเทศแคนาดา
การเดินทางนั้นสะดวกเพราะโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในแคนาดา จะตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง ล้อมรอบไปด้วยร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า กิจกรรมต่าง ๆ แถมตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินทำให้สะดวกในการเดินทางทั้งจากที่พักภายในเมือง รวมถึงผู้ทีพักอยู่นอกเมือง เพราะรถประจำทางและรถไฟครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง
เกี่ยวกับการคมนาคมนั้น มีการขับขี่ยานพาหนะทางด้านขวามือของถนน และคนเดินถนนมีสิทธิพิเศษก่อน หรือ “มีสิทธิ์ในการใช้ถนน” นั่นเอง เมืองและชุมชนส่วนใหญ่มีระบบรถประจำทางซึ่งใช้งานได้ง่ายและราคาไม่แพง เมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าก็จะมีรถไฟใต้ดินหรือ รถไฟซึ่งเป็นการโดยสารที่มีราคาไม่แพงเช่นกัน
อีกทั้งยังมีรถแท็กซี่ให้บริการแต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงขึ้น รวมถึงเรือเฟอร์รี่จำนวนมากทั่วแคนาดา หรืออาจจะใช้วิธีขี่จักรยาน+ใส่หมวกนิรภัย
ระบบการศึกษาในประเทศแคนาดา
ในประเทศแคนาดาระบบการศึกษาจะประกอบด้วย โรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงเกรด 12 โรงเรียนของรัฐในแคนาดาทุกแห่งได้รับการรับรองในระดับมณฑล ใช้หลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน ว่าจ้างเฉพาะอาจารย์ทีได้รับการรับรองจากรัฐบาล และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในขณะที่ระบบการศึกษาในแต่ละมณฑลมีความคล้ายคลึงกันหลายประการซึ่งหมายรวมถึงสถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน
การศึกษาในระดับที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษา คือ การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่มากกว่า 200 แห่ง ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่การจะเข้าศึกษานั้นจะไม่มีการสอบเข้า แต่ว่าแต่ละมหาวิทยลัยจะกำหนดกฏเกณฑ์และมาตรฐานในการรับนักศึกษาเป็นของตัวเอง
ด้วยระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้นักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลก ที่มองหาประเทศที่จะเรียนต่อ ตัดสินใจจะเรียนต่อเเคนดา กันเป็นจำนวนมาก
คุณภาพชีวิตของคนแคนาดา
มาตรฐานของคุณภาพชีวิตของคนแคนาดาจัดว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในโลก การใช้ชิวตนั้นก็สงบสุขไม่วุ่นวาย ซึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจเป็นเวลาหลายปีขององค์การสหประชาชาติแคนาดาเป็นประเทศที่น่าอยู่เหมาะแก่การดำรงชีพมากที่สุดในโลก ซึ่งได้จากการประเมินคุณภาพชีวิตใน 174 ประเทศ และใช้องค์ประกอบชี้บ่งมากกว่า 200 อย่าง
สรุป
สาเหตุหลัก ๆ ที่นักเรียนต่างชาติเลือกเรียนที่แคนาดา ก็คือ ชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่ปลอดภัย เป็นสังคมที่อดทนอดกลั้นและไม่เลือกปฏิบัติ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณภาพของระบบการศึกษาของแคนาดาเป็นที่ยอมรับทั่วโลก