การเตรียมเอกสารและขั้นตอนการทำหนังสือเดินทาง (PASSPORT) สำหรับเดินทางไปเรียนภาษาต่างประเทศ

การเตรียมเอกสารและขั้นตอนในการทำหนังสือเดินทาง

วันนี้พี่ๆ GENT Edutainment มีคำแนะนำในให้กับน้องๆในการเตรียมเอกสารและขั้นตอนในการทำหนังสือเดินทาง เพื่อเตรียมตัวก่อนการเดินทางกันครับ

สำหรับน้องๆที่กำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรียนซัมเมอร์คอร์สระยะสั้น, เรียนภาษา, หลักสูตรอื่นๆ ระยะสั้นและระยะยาว, หรือเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมหรือระดับปริญญา เอกสารอย่างหนึ่งที่น้องๆจะต้องมีก่อนการเดินทางนั่นก็คือ หนังสือเดินทาง หรือ Passport นั่นเอง วันนี้พี่ๆ GENT Edutainment มีคำแนะนำในให้กับน้องๆในการเตรียมเอกสารและขั้นตอนในการทำหนังสือเดินทาง เพื่อเตรียมตัวก่อนการเดินทางกันครับ

หนังสือเดินทางที่ใช้ในปัจจุบัน ในตัวเล่มจะมีฝังแถบข้อมูลไมโครชิพที่เรียกว่า หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี เมื่อหมดอายุแล้วจะไม่มีการต่ออายุ ต้องทำเล่มใหม่เท่านั้น น้องๆที่มีหนังสือเดินทางอยู่แล้ว ควรตรวจสอบดูด้วยว่าหนังสือเดินทางจะต้องเหลืออายุการใช้งานมากกว่า 6 เดือน จึงจะสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ถ้าน้องๆคนไหนยังไม่เคยทำหนังสือเดินทางหรือเคยมีหนังสือเดินทางแต่หมดอายุการใช้งานแล้ว แนะนำให้น้องๆเตรียมเอกสารต่อไปนี้เพื่อไปทำหนังสือเดินทางครับ

สำหรับน้องๆที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)

เอกสารประกอบการทำหนังสือเดินทางธรรมดาของบุคคลบรรลุนิติภาวะ มีดังต่อไปนี้

– บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรข้าราชการ หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับจริง (ในกรณีที่เป็นบัตรข้าราชการให้นำสำเนาทะเบียนบ้านมาด้วย)

– หากมีรายการแก้ไขชื่อสกุล หรือวันเดือนปีเกิด ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย

– ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

สำหรับน้องๆผู้เยาว์อายุระหว่าง 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

น้องๆ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ที่ทำบัตรประชาชนแล้วสามารถติดต่อขอทำ หนังสือเดินทางด้วยตนเอง โดยมีหนังสือยินยอมของบิดาและมารดา หรือ ผู้มีอำนาจปกครองที่ยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรอง จากอำเภอ/เขตมาแสดงประกอบการยื่นคำร้อง โดยเอกสารประกอบมีดังต่อไปนี้

– บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทย

– หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

– เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรมใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น

– ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

หมายเหตุ

– หากไม่มีหนังสือยินยอม บิดาและมารดาหรือผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ต้องมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ใน วันที่ยื่นคำร้อง (หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาไม่ได้ ให้มาลงนามในวันรับเล่ม) หรือ มีหนังสือยินยอม จากฝ่ายที่มาไม่ได้มาแสดง

– เอกสารที่นำมายื่นขอหนังสือเดินทางต้องเป็นต้นฉบับหากเป็นสำเนาต้องผ่านการ รับรองสำเนาถูกต้อง จากหน่วยงานที่ออกเอกสารดังกล่าวเท่านั้น

สำหรับน้องๆผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี

ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องนำสูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจาก อำเภอ/เขตมาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง หากผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถมาดำเนินการได้ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจและ หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศพร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชน ของบิดามารดาและ/หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริงมาแสดง ทั้งนี้หนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศต้อง ผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต โดยเอกสารประกอบการทำหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี มีดังนี้

– สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาสูติบัตรต้องได้รับการรับรองจากอำเภอ/เขต

– บิดาและมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองนำบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หากชื่อนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ หรือ นามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

– หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดามารดาที่ไม่มาในกรณีที่บิดา/มารดาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาแสดงตัวได้ โดยหนังสือยินยอมของบิดา/มารดาต้องผ่านการรับรองจากอำเภอ/เขต (ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องมีบิดาหรือมารดา คนใดคนหนึ่งมาแสดงตัวให้ความยินยอม)

– เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดา หรือมารดา เป็นต้น

– กรณีบิดา มารดาผู้เยาว์เสียชีวิต / บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรสและไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ /บิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง

– ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง (Passport)

เมื่อน้องๆได้เตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้วน้องๆสามารถเดินทางไปทำหนังสือเดินทางได้ที่ กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ หรือที่สำนักงานบริการหนังสือเดินทางที่สะดวก ในวันและเวลาทำการราชการ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น.โดยเอกสารต้องยื่นภายในเวลา 15.30 น. สามารถตรวจสอบสถานที่ให้บริการหนังสือเดินทางได้ที่นี่ (Click here) โดยขั้นตอนการยื่นคำร้องมีดังนี้

  1. รับบัตรคิว
  2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลักหากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงพร้อมเอกสารหลักฐานอื่นๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูล
  3. เก็บข้อมูลชีวภาพ (วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ขวาและนิ้วชี้ซ้ายด้วยเครื่องสแกนข้างละ 2 ครั้ง และถ่ายรูป 2 ครั้ง)
  4. แจ้งความประสงค์ที่จะขอรับเล่มทางไปรษณีย์
  5. ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และค่าส่งไปรษณีย์ (35 บาท) รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม

 

การรับหนังสือเดินทาง

  1. รับหนังสือเดินทางด้วยตัวเองหรือมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับแทน นับจากยื่นคำร้องแล้ว 2 วันทำการ ไม่นับวันที่ยื่น อาทิยื่นคำร้องวันศุกร์จะได้รับหนังสือเดินทางในวันอังคารเช้า
  2. ใช้บริการการจัดส่งหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์โดยชำระค่าจัดส่ง 35 บาท ผู้รับซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯจะได้รับหนังสือเดินทางประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับผู้รับที่อยู่ต่างจังหวัดจะได้รับหนังสือเดินทางประมาณ 10 วัน

ข้อแนะนำอื่นๆ

  • ก่อนเดินทางออกนอกประเทศควรถ่ายเอกสารหนังสือเดินทางหน้าที่มีรูปถ่ายและข้อมูลส่วนบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุอยู่เก็บไว้แยกกัน อีกทั้งควรมีที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของสถานทูตสถานกงสุลไทยในประเทศที่จะเดินทางไปถึง หรือเดินทางผ่าน
  • ในกรณีที่หนังสือเดินทางหมดอายุ แต่ยังมีวีซ่าที่ยังใช้งานได้อยู่ สามารถยื่นคำร้องขอบันทึกการถือหนังสือเดินทางเล่มเดิมในเล่มใหม่และสามารถ นำวีซ่าในเล่มเดิมที่ยังมีอายุใช้งานคู่กับหนังสือเดินทางเล่มใหม่
  • ในกรณีที่อยู่ต่างประเทศ สามารถขอทำหนังสือเดินทางได้ที่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องเดินทางไปทำด้วยตัวเองเท่านั้น โดยเช็คสถานทูตสถานกงศุลไทยได้จากhttp://www.thaiembassy.org

 

กรณีทำหนังสือเดินทางสูญหาย

  • สูญหายในประเทศต้องติดต่อแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับแจ้งความจากเจ้าพนักงาน ตำรวจมายื่นขอทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่และยกเลิกการใช้งานหนังสือเดินทาง ฉบับที่สูญหาย
  • สูญหายในต่างประเทศต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายต่อทางการท้องถิ่น และนำใบรับแจ้งความดังกล่าวนั้นพร้อมเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยของตนหรือ เอกสารทะเบียนราษฎรที่มีอยู่ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ไปติดต่อที่สถานทูต สถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ หากในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการ เร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานทูตสถานกงสุลจะออกเอกสารเดินทาง(Certificate of Identity) ให้ใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้ครั้งเดียว เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วเอกสารเดินทางจะหมดอายุการใช้งาน

รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซท์กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (Click here)

น้องๆที่กำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อต่างประเทศหรือซัมเมอร์คอร์ส หากยังไม่มีพาสปอร์ต ได้อ่านบทความนี้แล้วสามารถเตรียมเอกสารแล้วไปดำเนินการได้เลยครับ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อพี่ๆ GENT Edutainment ได้นะครับ